วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

"ทฤษฎีสังคมกระจกเงา” (Social Mirror Theory)


      นักวิชาการได้อธิบายถึงทฤษฏีพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า "ทฤษฎีสังคมกระจกเงา (Social Mirror Theory)   จากแนวคิดของ Wilhelm Ditthey (1883-1911)  ที่กล่าวว่า "คนเราสามารถเรียนรู้เพื่อรับรู้ความคิดและความรู้สึกของตนเอง ได้จากการอยู่ในโลกแห่งความคิดและความรู้สึกของสังคม
          
              จากปรัชญานี้ได้มีการศึกษาต่อโดยนักจิตวิทยาสังคมและนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปี ๒๕๓๙ นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพาร์ม่าประเทศอิตาลี ประกอบด้วย Dr.Vittorio Gallese, Dr.Leonardo Fogassi และ Dr.Giacomo Rizzolatti เป็นผู้เปิดประตูนำไปสู่การไขความลับนี้  พบว่า ภายใน สมองของคนเรามีเซลล์ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาตั้งชื่อว่า เซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) โดยอธิบายว่า เซลล์กระจกเงา เป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในสมองของมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่ เลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของผู้อื่นมาเป็นพฤติกรรมของตนเอง
               การค้นพบของนักวิชาการครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการค้นคว้าวิจัยบทบาทและหน้าที่ ของเซลล์ชนิดนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การศึกษา จิตวิทยา และสังคมวิทยา ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองของมนุษย์อย่างมากมาย อาทิเช่น พฤติกรรมของเด็กและเยาวชน เป็นผลมาจากเซลล์กระจกเงาไปลอกเลียน แบบพฤติกรรมตัวอย่างที่ได้พบเห็นในสังคม และพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเล็กๆ เป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา ทำให้เด็กสามารถเข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของผู้พูดได้ การเข้าใจจิตใจผู้อื่นได้ดีเป็นผลมาจากการที่เซลล์กระจกเงาทำหน้าที่         อ่านใจ (Mind Reading) บุคคลผู้นั้น เป็นต้น
               จากแนวคิดของทฤษฎีกระจกเงานี้ นักวิชาการในวงการศึกษาได้เสนอให้ นำมาใช้ ในการพัฒนาเด็กไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กที่เกิดขึ้น จากการทำงานของเซลล์กระจกเงาในตัวเด็กเอง ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคม มีทักษะในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกๆ โดยไม่ใช่ เพียงแค่การใช้ "คำพูดในการสั่งสอนลูกเท่านั้น เซลล์กระจกเงาจะทำงานได้ดีเมื่อลูกเห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ และสามารถสะท้อนสิ่งที่ดีแล้วซึมซับเข้าไปเป็นลักษณะนิสัยของตัวเด็กเอง
           ประโยชน์ของทฤษฎีนี้ ทำให้สังคมรู้ว่าแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ คือ สิ่งสำคัญที่สุด ในการพัฒนาลักษณะนิสัยและสภาวะคุณธรรมในตัวเด็กตั้งแต่เยาว์วัย อีกทั้งแนวคิดนี้สามารถเชื่อมโยงต่อไปยังทฤษฎีการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ที่บอกว่า การรับรู้เพื่อสร้างค่านิยม ทัศนคติของบุคคล เกิดจากการเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องผ่านสื่อกลางของสังคม ๖ กลุ่ม คือ สถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา ชุมชน กลุ่มเพื่อน และสื่อมวลชน ซึ่งมีกระบวนทัศน์เดียวกัน
           ดังนั้น การสร้างสังคมคุณธรรมให้เกิดขึ้น จำเป็นต้องสร้างกระบวนทัศน์ของสื่อกลางทั้ง ๖ กลุ่มให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดบรรทัดฐานของสังคม (Norms) ที่ทุกคนยอมรับและยึดถือประพฤติปฏิบัติ พร้อมกับรณรงค์ให้คนในสังคม ตั้งแต่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นักบวชผู้สอนศาสนาชนชั้นนำของสังคม (Elite) เพื่อนร่วมสังคม และสื่อมวลชน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับ คนในสังคมโดยประพฤติตามบรรทัดฐานเหล่านั้น เพื่อให้สิ่งที่ดีงามซึมซับเข้าสู่สมองผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าสู่เซลล์กระจกเงาของเด็กและเยาวชนและยึดถือเป็นลักษณะนิสัยที่ถาวรยั่งยืน
          อย่างไรก็ดี การเป็นแบบอย่างต่อสังคมนั้น เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านทั้งดี และไม่ดี จึงสมควรทีผู้ใหญ่ต้องระมัดระวัง ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีซึ่งจะทำให้เด็กจดจำ นำไป ปฏิบัติ จนเกิดค่านิยมในทางที่ผิด เช่น โกงก็ได้ถ้าทำให้ประเทศเจริญ เป็นต้น บางพฤติกรรมเป็นสิ่งที่พลั้งเผลอได้ง่าย คือ การใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ เช่น ไอ้ อี มัน ฯลฯ ซึ่งชนชั้นนำเผลอพูด จนกลายเป็นภาษานิยมใช้กันได้แม้กระทั่งในรัฐสภา หรือบาง ครั้งใช้คำที่มีสองความหมาย เช่น เอาอยู่ ซึ่งเมื่อสื่อนำไปเผยแพร่ต่อในลักษณะล้อเลียน ทำให้เด็กและเยาวชนยุคหลังๆ ไม่ทราบว่า คำเหล่านี้เป็นคำที่ไม่สุภาพ เพราะผู้ใหญ่ใช้กันจนคุ้นชิน และเผยแพร่ทางสื่อมวลชนจนเห็นว่า เป็นเรื่อง "ธรรมดา
          เรื่องนี้คงต้องฝาก ทั้งผู้พูดต้องระมัดระวังมากขึ้น และสื่อมวลชนต้องช่วยกันกลั่นกรองไม่เผยแพร่ต่อ นอกจากนั้น อากัปกิริยาการพูดที่มีลีลาแสดงอารมณ์รุนแรงซึ่งเรียกว่า "มีสีสันโดยเฉพาะในรัฐสภาที่มีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ บางครั้งก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ ทั้งผู้พูดกับผู้ได้รับผลกระทบจากคำพูด จนกลายเป็น "วิวาทะแสดงพฤติกรรมที่ไม่งดงามอัน เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชนจดจำ นำไปใช้ รวมถึง ละครสะท้อนสังคมที่เรียกว่า ละครน้ำเน่าซึ่งแพร่ภาพทางโทรทัศน์ ก็ทำให้เด็กเลียนแบบในสิ่งไม่ดี ลักษณะนิสัยบางอย่างที่ลูกซึมซับจากพ่อแม่ได้ง่ายที่สุด คือ อบายมุข จะสังเกตได้ว่า ถ้าพ่อดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ลูกก็จะคุ้นชินว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือพ่อแม่เล่นการพนัน ลูกก็ จะคุ้นชินและรับมรดกนักพนันมาด้วย
           นอกจากนั้น เมื่อโลกปัจจุบันหมุนมาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่ เข้าสู่ประสาททั้ง ๖ ของมนุษย์ได้ง่าย ทำให้เกิดการแพร่กระจายของวัฒนธรรมข้ามชาติ มากมาย ทำให้มีการเลียนแบบ จนทำให้พฤติกรรมอันดีงามของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีตได้ถูกทำลายไปมาก เช่น ความเมตตา การให้อภัยกัน ความเกรงใจไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อัธยาศัยไมตรีอันดีงาม ความสุภาพอ่อนน้อม และมารยาทตามสมบัติผู้ดี จึงมีความจำเป็นที่สังคมต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กซึ่งมีวุฒิภาวะทางสังคมที่อ่อนด้อย มากขึ้น
            เมื่อพูดถึงหนังสือสมบัติผู้ดีแล้ว จำได้ว่าในอดีตมีการสอนสมบัติผู้ดีควบคู่กับหนังสือมารยาทเล่มน้อยตั้งแต่ระดับประถม มาถึงวันนี้ไม่ทราบว่ายังสอนกันอยู่หรือไม่ ถ้ายังสอนอยู่ก็จะเป็นสิ่งดี เพราะมีครูและพ่อแม่เป็นแบบอย่าง      "ทำตามที่สอนสังคมไทยก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ควรนำสาระของหนังสือเหล่านี้ใส่ไว้ในประมวลจริยธรรมของทุกหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน เพื่อแนะนำและเตือนสติให้ผู้ใหญ่ในสังคมประพฤติปฏิบัติตน เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็ก
             จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า การสร้างสังคมคุณธรรม "ง่ายนิดเดียวถ้าผู้ใหญ่เป็นแบบ อย่างที่ดี ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมที่ร่วมกันกำหนด เพื่อให้สิ่งที่ดีงามของสังคมไทยซึมซับเข้าสู่เซลล์กระจกเงาของเด็ก และประพฤติปฏิบัติตาม อันจะเป็นการกล่อมเกลาทางสังคมจนเกิด "สังคมคุณธรรมที่สร้างประโยชน์ สุขให้แก่คนในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน





                                                                                      
                                                                            



















วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

"คอร์รัปชั่นเป็นภัยของสังคมเรามาโดยตลอด เรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ทำลายความเจริญก้าวหน้าของประเทศเรา ดังนั้น จึงยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้การคอร์รัปชั่นเป็นวัฒนธรรมในสังคมของเรา"

            ข้อความนนี้เป็นพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ บิน อัล-ฮุสเซน พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอัชไมต์จอร์แดน ที่มีถึงประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตชุดแรก ซึ้งทรงแต่ตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2007 หลังจากปรับปรุงกฏหมายเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ ซึ้งสะท้อนให้เห็นถึงเจตรารมณ์อันแรงกล้าที่จะขจัดการทุจริตให้หมดไปจากประเทศของพระองค์ จึงถูกนำมาเป็นปรัชญาในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตของจอร์แดนมาจนถึงทุกวันนี้
              สำหรับความเป็นมาของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (United Nations Convention against Corruption 2003) เกิดจากผลการพิจารณาในที่ประชุมสหประชาชาติว่า ปัญหาและภัยคุกคามจากการทุจริตคอร์รับชั่นในสังคมได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้มีผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของสังคม
               ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะของพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบในลักษณะเครือข่ายข้ามพรมแดนประเทศ จึงควรสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและควบคุมปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น 
              ด้วยเหตุนี้ อนุสัญญาฉบับนี้จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีเป้าประสงค์ในการสร้างมาตรฐานกลางในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐภาคี และเพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการให้ความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๖ 
             หลังจากมีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ทุกประเทศเริ่มตื่นตัวกับการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากมีความตระหนักร่วมกันและแสวงหาความร่วมมือในการขจัดภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและสังคมของสังคมโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยคณะรัฐมนตรีได้แสดงความพยายามการเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาฉบับนี้โดยเร็ว ด้วยการมีมติเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันพิจารณาตรวจสอบพันธกรณีต่างๆ ตามอนุสัญญาฉบับนี้ และร่วมลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นวันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นโลก
               ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ กระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีว่า สมควรแก้ไขกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ (๑) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... (๒) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิด พ.ศ.... และ (๓) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฉบับที่...) พ.ศ....พร้อมกับได้จัดทำร่างกฎหมายทั้งสามฉบับมาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย
              ดังนั้น เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ นำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.๒๐๐๓ เสนอขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ และให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ โดยระบุข้อสงวน (Reservation) ไว้ในสัตยาบันสารว่า จะให้สัตยาบันอย่างสมบูรณ์เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบอนุสัญญาฯ และกฎหมาย ๓ ฉบับนี้ ได้ใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ อย่างเป็นรูปธรรม
               ปี ๒๕๕๓ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ ๑๔ (14th International Anti-Corruption : IACC.)ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเสนอต่อรัฐบาลให้มีการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ๓ ฉบับนี้ เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ซึ่งจะมีผลให้ประเทศไทยสามารถลงนามในสัตยาบันได้อย่างสมบูรณ์ 
                คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้เหตุผลว่า มีประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตแล้ว ๑๔๑ ประเทศ เหลือเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียง ๓ ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศพม่า
และการที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมนานาชาติเพื่อต่อต้านการทุจริต ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมมาแล้วเกือบ ๗ ปี แต่ยังไม่ลงสัตยาบันเป็นรัฐภาคี จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศในด้านการแสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาลไทยในการต่อต้านการทุจริตต่อประชาคมโลก
                 ดังนั้น ในคราวประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมนานาชาติดังกล่าวเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ นายกรัฐมนตรีและประธาน ป.ป.ช. ในฐานะประธานในการประชุมร่วม ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการเร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ โดยมิต้องรอการแก้ไขกฎหมายอนุวัติการทั้ง ๓ ฉบับให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
                 ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาว่า ความ "สุ่มเสี่ยง” ของการไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศไทยได้รับการร้องขอจากรัฐภาคีอื่น ให้ดำเนินการในส่วนที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั้น มีน้อยกว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในแง่ภาพลักษณ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริตที่จะเพิ่มมากขึ้น
                  นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาบริบทของอนุสัญญาฯ แล้ว จะเห็นได้ว่า มีลักษณะยืดหยุ่นมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เข้าเป็นภาคีได้โดยยังไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีได้สมบูรณ์ และไม่มีบทลงโทษในกรณีที่รัฐภาคีไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้ครบถ้วน มีเพียงกลไกควบคุมติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อเสนอแนะและให้ความช่วยเหลือให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
                   ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ เรื่อง การให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย โดยให้เร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ โดยมิต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม ๓ ฉบับ มีผลใช้บังคับก่อน แต่ไม่ได้ระบุว่า กฎหมายเหล่านี้จะผ่านรัฐสภาและมีผลใช้บังคับเมื่อใด
                   หากมองดูความ "สุ่มเสี่ยง” จากความกังวลของส่วนราชการต่างๆ ที่เป็นผู้ปฏิบัติ หน่วยแรก สำนักงานอัยการสูงสุด ได้เสนอข้อกฎหมายที่เป็นข้อขัดข้องในการดำเนินคดีและการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ๕ ประการ คือ (๑) การใช้บังคับทางกฎหมายกรณีสินบนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ (๒) การติดตามทรัพย์สินคืน (๓) อายุความ (๔) การอายัด การยึด และการริบทรัพย์สิน และ (๕) มาตรการติดตามทรัพย์สินคืนโดยตรง พร้อมกันนั้น ได้แสดงความกังวลที่สอดคล้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เมื่อประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแล้ว ประเทศภาคีต่างๆ สามารถมีคำร้องขอให้ประเทศไทยดำเนินการต่างๆ ตามอนุสัญญาฯ ได้ทันที ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการให้ตามคำร้องขอของประเทศภาคีดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายภายในรองรับแล้ว อาจถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ หรือละเมิดอนุสัญญาฯ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
                ส่วนกระทรวงต่างประเทศให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ และให้ความสำคัญระดับสูงแก่การเร่งรัดผลักดันการออกกฎหมายอนุวัติการตามอนุสัญญาฯ ทุกฉบับให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
                ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนามในสัตยาบันเรียบร้อยแล้ว โดยที่ยังไม่ได้ปรับปรุงกฎหมายอนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ จึงเป็นเหตุที่ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะ "สุ่มเสี่ยง” ที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันเห็นว่า "ยอมรับได้” แต่ข้าราชการประจำซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติยังมีความกังวลอยู่ ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องใช้มาตรการทางสังคม "ต่อต้าน” พรรคการเมืองที่ไม่ยอมประกาศว่า จะออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสมบูรณ์เมื่อใด ด้วยการไม่เลือกพรรคการเมืองเหล่านั้น เข้ามาเป็นผู้แทนของพวกเราในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

ภาพ : prasong.com



       












วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความน่าเชื่อถือต่อนักการเมือง / WHITE LIE : โกหกสีขาว


ความน่าเชื่อถือต่อนักการเมือง

                                           
WHITE LIE  : โกหกสีขาว


    WHITE LIE คือ การโกหกเล็กน้อยที่ไม่มีอันตราย หรือมีผลประโยชน์ในระยะยาว การโกหกในลักษณ์นี้ จะช่วยให้เหตุการณ์ต่างๆดีขึ้น ซี่งเป็นการบอกความจริงบางส่วน ที่ไม่ใช่การหลอกลวง หรือปกปิดความลับเพื่อเลี่ยงคำถามที่ตอบไม่ได้ 
   


     คำว่า "WHITE LIE" ก็ยังขัดแย้งกับข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภาที่กำหนดว่า "สมาชิกและกรรมาธิการ ต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอยางครบถ้วน ถูกต้องโดยไมบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้        ผู้อ่านหรือประชาชนเข้าใจผิด หรือเพื่อผลประโยชนส่วนตัวหรือบุคคลอื่นใด " ดังนั้นหากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา ก็ควรที่จะมีมาตราฐานทางจริยธรรม เพื่อก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่ได้รับการประเมินจาก world economic forum ในเรื่องของ ความเชื่อถือไว้วางใจจากสาธารณะต่อการเมือง (Public Trust in Politicians) ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรม (Ethical Standard) และให้คะแนนเพียง 2.2 จากค่าเฉลี่ยของโลก 3.6 ซึ่งเป็นลำดับที่ 107 จากการประเมิน 144 ประเทศ ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่โกหก เพื่อหวังผลในบางเรื่อง เพียงเท่านี้ ลำดับความน่าเชื่อถือของสาธารณะต่อนักการเมืองน่าจะดีขึ้น




เครดิต
ข้อมูล : http://www.moralcenter.or.th/
ภาพ : thaireddenmark.blogspot.com