วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

"ทฤษฎีสังคมกระจกเงา” (Social Mirror Theory)


      นักวิชาการได้อธิบายถึงทฤษฏีพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า "ทฤษฎีสังคมกระจกเงา (Social Mirror Theory)   จากแนวคิดของ Wilhelm Ditthey (1883-1911)  ที่กล่าวว่า "คนเราสามารถเรียนรู้เพื่อรับรู้ความคิดและความรู้สึกของตนเอง ได้จากการอยู่ในโลกแห่งความคิดและความรู้สึกของสังคม
          
              จากปรัชญานี้ได้มีการศึกษาต่อโดยนักจิตวิทยาสังคมและนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปี ๒๕๓๙ นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพาร์ม่าประเทศอิตาลี ประกอบด้วย Dr.Vittorio Gallese, Dr.Leonardo Fogassi และ Dr.Giacomo Rizzolatti เป็นผู้เปิดประตูนำไปสู่การไขความลับนี้  พบว่า ภายใน สมองของคนเรามีเซลล์ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาตั้งชื่อว่า เซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) โดยอธิบายว่า เซลล์กระจกเงา เป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในสมองของมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่ เลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ ของผู้อื่นมาเป็นพฤติกรรมของตนเอง
               การค้นพบของนักวิชาการครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการค้นคว้าวิจัยบทบาทและหน้าที่ ของเซลล์ชนิดนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การศึกษา จิตวิทยา และสังคมวิทยา ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองของมนุษย์อย่างมากมาย อาทิเช่น พฤติกรรมของเด็กและเยาวชน เป็นผลมาจากเซลล์กระจกเงาไปลอกเลียน แบบพฤติกรรมตัวอย่างที่ได้พบเห็นในสังคม และพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเล็กๆ เป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา ทำให้เด็กสามารถเข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของผู้พูดได้ การเข้าใจจิตใจผู้อื่นได้ดีเป็นผลมาจากการที่เซลล์กระจกเงาทำหน้าที่         อ่านใจ (Mind Reading) บุคคลผู้นั้น เป็นต้น
               จากแนวคิดของทฤษฎีกระจกเงานี้ นักวิชาการในวงการศึกษาได้เสนอให้ นำมาใช้ ในการพัฒนาเด็กไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กที่เกิดขึ้น จากการทำงานของเซลล์กระจกเงาในตัวเด็กเอง ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคม มีทักษะในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกๆ โดยไม่ใช่ เพียงแค่การใช้ "คำพูดในการสั่งสอนลูกเท่านั้น เซลล์กระจกเงาจะทำงานได้ดีเมื่อลูกเห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ และสามารถสะท้อนสิ่งที่ดีแล้วซึมซับเข้าไปเป็นลักษณะนิสัยของตัวเด็กเอง
           ประโยชน์ของทฤษฎีนี้ ทำให้สังคมรู้ว่าแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่ คือ สิ่งสำคัญที่สุด ในการพัฒนาลักษณะนิสัยและสภาวะคุณธรรมในตัวเด็กตั้งแต่เยาว์วัย อีกทั้งแนวคิดนี้สามารถเชื่อมโยงต่อไปยังทฤษฎีการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ที่บอกว่า การรับรู้เพื่อสร้างค่านิยม ทัศนคติของบุคคล เกิดจากการเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องผ่านสื่อกลางของสังคม ๖ กลุ่ม คือ สถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถาบันศาสนา ชุมชน กลุ่มเพื่อน และสื่อมวลชน ซึ่งมีกระบวนทัศน์เดียวกัน
           ดังนั้น การสร้างสังคมคุณธรรมให้เกิดขึ้น จำเป็นต้องสร้างกระบวนทัศน์ของสื่อกลางทั้ง ๖ กลุ่มให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดบรรทัดฐานของสังคม (Norms) ที่ทุกคนยอมรับและยึดถือประพฤติปฏิบัติ พร้อมกับรณรงค์ให้คนในสังคม ตั้งแต่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นักบวชผู้สอนศาสนาชนชั้นนำของสังคม (Elite) เพื่อนร่วมสังคม และสื่อมวลชน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับ คนในสังคมโดยประพฤติตามบรรทัดฐานเหล่านั้น เพื่อให้สิ่งที่ดีงามซึมซับเข้าสู่สมองผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าสู่เซลล์กระจกเงาของเด็กและเยาวชนและยึดถือเป็นลักษณะนิสัยที่ถาวรยั่งยืน
          อย่างไรก็ดี การเป็นแบบอย่างต่อสังคมนั้น เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้านทั้งดี และไม่ดี จึงสมควรทีผู้ใหญ่ต้องระมัดระวัง ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีซึ่งจะทำให้เด็กจดจำ นำไป ปฏิบัติ จนเกิดค่านิยมในทางที่ผิด เช่น โกงก็ได้ถ้าทำให้ประเทศเจริญ เป็นต้น บางพฤติกรรมเป็นสิ่งที่พลั้งเผลอได้ง่าย คือ การใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ เช่น ไอ้ อี มัน ฯลฯ ซึ่งชนชั้นนำเผลอพูด จนกลายเป็นภาษานิยมใช้กันได้แม้กระทั่งในรัฐสภา หรือบาง ครั้งใช้คำที่มีสองความหมาย เช่น เอาอยู่ ซึ่งเมื่อสื่อนำไปเผยแพร่ต่อในลักษณะล้อเลียน ทำให้เด็กและเยาวชนยุคหลังๆ ไม่ทราบว่า คำเหล่านี้เป็นคำที่ไม่สุภาพ เพราะผู้ใหญ่ใช้กันจนคุ้นชิน และเผยแพร่ทางสื่อมวลชนจนเห็นว่า เป็นเรื่อง "ธรรมดา
          เรื่องนี้คงต้องฝาก ทั้งผู้พูดต้องระมัดระวังมากขึ้น และสื่อมวลชนต้องช่วยกันกลั่นกรองไม่เผยแพร่ต่อ นอกจากนั้น อากัปกิริยาการพูดที่มีลีลาแสดงอารมณ์รุนแรงซึ่งเรียกว่า "มีสีสันโดยเฉพาะในรัฐสภาที่มีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ บางครั้งก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ ทั้งผู้พูดกับผู้ได้รับผลกระทบจากคำพูด จนกลายเป็น "วิวาทะแสดงพฤติกรรมที่ไม่งดงามอัน เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชนจดจำ นำไปใช้ รวมถึง ละครสะท้อนสังคมที่เรียกว่า ละครน้ำเน่าซึ่งแพร่ภาพทางโทรทัศน์ ก็ทำให้เด็กเลียนแบบในสิ่งไม่ดี ลักษณะนิสัยบางอย่างที่ลูกซึมซับจากพ่อแม่ได้ง่ายที่สุด คือ อบายมุข จะสังเกตได้ว่า ถ้าพ่อดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ลูกก็จะคุ้นชินว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือพ่อแม่เล่นการพนัน ลูกก็ จะคุ้นชินและรับมรดกนักพนันมาด้วย
           นอกจากนั้น เมื่อโลกปัจจุบันหมุนมาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่ เข้าสู่ประสาททั้ง ๖ ของมนุษย์ได้ง่าย ทำให้เกิดการแพร่กระจายของวัฒนธรรมข้ามชาติ มากมาย ทำให้มีการเลียนแบบ จนทำให้พฤติกรรมอันดีงามของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีตได้ถูกทำลายไปมาก เช่น ความเมตตา การให้อภัยกัน ความเกรงใจไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อัธยาศัยไมตรีอันดีงาม ความสุภาพอ่อนน้อม และมารยาทตามสมบัติผู้ดี จึงมีความจำเป็นที่สังคมต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กซึ่งมีวุฒิภาวะทางสังคมที่อ่อนด้อย มากขึ้น
            เมื่อพูดถึงหนังสือสมบัติผู้ดีแล้ว จำได้ว่าในอดีตมีการสอนสมบัติผู้ดีควบคู่กับหนังสือมารยาทเล่มน้อยตั้งแต่ระดับประถม มาถึงวันนี้ไม่ทราบว่ายังสอนกันอยู่หรือไม่ ถ้ายังสอนอยู่ก็จะเป็นสิ่งดี เพราะมีครูและพ่อแม่เป็นแบบอย่าง      "ทำตามที่สอนสังคมไทยก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ควรนำสาระของหนังสือเหล่านี้ใส่ไว้ในประมวลจริยธรรมของทุกหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน เพื่อแนะนำและเตือนสติให้ผู้ใหญ่ในสังคมประพฤติปฏิบัติตน เป็นแบบอย่างที่ดีของเด็ก
             จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า การสร้างสังคมคุณธรรม "ง่ายนิดเดียวถ้าผู้ใหญ่เป็นแบบ อย่างที่ดี ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมที่ร่วมกันกำหนด เพื่อให้สิ่งที่ดีงามของสังคมไทยซึมซับเข้าสู่เซลล์กระจกเงาของเด็ก และประพฤติปฏิบัติตาม อันจะเป็นการกล่อมเกลาทางสังคมจนเกิด "สังคมคุณธรรมที่สร้างประโยชน์ สุขให้แก่คนในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน





                                                                                      
                                                                            



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น